คนทำนา

เมื่อนึกถึงวัยเด็กเมื่อไหร่ทำให้รู้สึกดีทุกครั้ง จากเด็กชาวนาตัวเล็ก ๆ จากครอบครัวชาวนาธรรมดา ๆ ที่มีพี่น้อง 8 คน ตัวเองเป็นคนสุดท้อง (ลูกชายหล้า) และเป็นเดียวที่เรียนเกิน ป. 4 เพราะเป็นคนรักเรียน (แล้วจะเล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่่ง) ความประทับใจในการเป็นชาวนา ทำให้ผู้เขียนเองแม้ว่าจะมีอาชีพที่คิดว่าสูงสุดแล้วในทางโลก (เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย) กลับอยากจะกลับไปเป็นชาวนาอีกครั้ง ไม่ได้เป็นเพราะต้องเกษียณอายุราชการเพราะไม่มีอะไรจะทำ ไม่ ไม่ ไม่เป็นอย่างนั้นแน่นอน ต้องมีอะไรมากกว่านั้น

การทำนาสมัยเด็กนั้นต่างกับตอนนี้มาก ถึงหน้านาหรือฤดูฝน ฝนจะตกมากและตกสม่ำเสมอบางครั้งตกหลายวันต่อกัน พ่อ แม่ พี่ ๆ ออกไปไถนา ตัวเองยังเล็ก มีหน้าที่เลี้ยงควาย ทำโน่นทำนี่เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็มีความสุขดี โดยเฉพาะไปเลี้ยงควายท่ามกลางสายฝนที่ตกทั้งวัน หนาวก็หนาว วิธีแก้หนาวก็คือการนอนแซ่น้ำในท้องนา มีน้ำแก่ง (น้ำหลาก) ตามหวยที่หัวนา ลงไปเล่นน้ำ สนุกอยากบอกใคร (เด็กสม้ยนี้ไม่มีทางจะได้สัมผัส) 

การทำมาหากินมันช่างง่ายดายเสียเหลือเกิน พอฝนตกก็จะมีอึ่งอ่างร้องกันลั่่นทุ่ง จับกันได้เป็นหาบ (แต่เดี่๋ยวนี้แม้จะหาทำยากก็แสนยาก) ทำเป็นอึ่งย่าง ฝนตกก็ออกไปตีกบ เราเห็นแล้วสงสารกบเหลือเกิน ไปกับพี่ ๆ แต่ไม่ทำ (กินนะกินแน่) ปลาก็สามารถไปใส่เบ็ด (หรือหย่อนเบ็ด) เกินพอสำหรับกิน ในงานนาก็มีผักสารพัดชนิด ผักแว่น น่าจะเป็นผักหลัก แมงดาก็หาไม่ยาก มันมักจะไข่ไว้กับต้นไม้น้ำ (จำชื่อไม่ได้) เราจะรู้ทันทีว่าตัวมันอยู่ใต้ตนไม้น้ำนั้น การจับกบง่าย ๆ พอเดินตามคันนา กบก็จะกระโดดลงน้ำ วิธีการจับคือเราตามลงไปน้ำแบบค่อย ๆ ย่องแล้วเอามือประกบตรงสุดไพน้ำ (ฟองน้ำ – กบเดินไปฟองน้ำจะผุดขึ้นมา) บางครั้งหลังหลังเก็บเกี่ยวแล้วในที่นาสามารถหากบ หาเขียด หาปูได้ บางครั้งเขียดตัวเล็ก (เขียนกินา) สามารถเอาแพแหย่ง (ตาข่ายพลาสติก) เย็บเป็นที่ซ้อน สามารถซ้อนเขียดเล็ก ๆ เหล่านั้นได้ การหาอยู่หากินมันช่างง่ายดายเหลือเกิน คำที่ว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าวนั้นใช้ได้แน่นอน

การปลูกข้าวพอเดือนพฤษภาคม เมื่อฝนตกลงมาครั้งแรกเราเริ่มไถนาฮุด (ไถดะปรับดิน) พอฝนตกมากขึ้นก็ไถอีกครั้งเพื่อที่จะตกกล้า (หว่านกล้า) เมื่อกล้าโตพอดำ นาที่ได้ไถไว้แล้วจะถูกไถอีกครั้งแล้วคลาดเพื่อให้พื้นมันเรียบจะได้ดำได้ง่าย ตอนเย็นก็ถอนกล้า ตอนเช้าก็ดำ แล้วก็ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ (ทำนาร่วมกับเทวดา) แต่ส่วนใหญ่แล้วเทวดาท่านก็ใจดี ใจดี ให้น้ำตามฤดูกาลไม่เห็นต้องใส่ปุ๋ยที่ซื้อจากตลาดเลย มีแต่ขี้วัว ขี้ควาย ข้าวแก่หน่อยเราก็นำมาทำข้าวเม่า พอแก่เราก็เกี่ยว มีการลงแขกบ้าง ลานนวดข้าวใช้ขี้วัวผสมกับดินเหนียวเราเรียกว่าลานฟาด (นวด) ข้าว ส่วนใหญ่จำทำในตอนหัวค่ำจนประมาณ 4 ทุ่ม มีพระจันทร์ให้แสงสว่าง อากาศหนาวมาก (เดือน พ.ย. – ธ.ค) ส่วนฟาง เด็ก ๆ ก็ไปทำซุ้มนอนที่กองฟางโดยใช้คลาดเป็นโครง มันช่างมีความสุขเหลือเกิน คนสมัยใหม่จะไม่เห็นแน่นอน จิตวิญญานความเชื่อมโยง่จะมี ไม่เห็นชาวนาบ่นเรื่องของการเป็นหนี้

หลังจากว่างเว้นจากการทำนามานาน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ผ่านนาที่ไรก็นึกถึงชีวิตชาวนา แต่ตอนนี้การทำนาไม่เหมือนเดิมแล้ว เขาใช้รถแทนควาย ใช้รถเกี่ยวข้าวแทนคนหรือการลงแขก เขาใช้ปุ๋ยเคมีจากตลาดที่พ่อค้ามาเสนอขายให้โดยไม่ต้องจ่ายตังค์ แต่จะเอาเป็นข้าว การทำงานย่นจาก 2 เดือนมาเหลือ 4 – 5 วัน แล้วชาวนาก็บ่นบอกว่ามีแต่หนี้ (ทั้งที่ได้เงินมากกว่า) ทำให้ผู้เขียนคิด คิด และก็คิด ว่าถ้าเราทำเราจะไม่ทำอย่างนี้ แต่จะทำให้ใกล้เคียงกับตอนสมัยเด็ก ๆ ในนามีปลา มีปู มีกบ เขียด ความคิดนี้ก็เป็นจริงเมื่อผู้เขียนได้ซื้อที่นาประมาณ 5 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 9 ไร่ ถ้าไม่ทำนาเราอยู่ได้ไหม? อยู่ได้แน่นอน บำนาญที่ได้รับเพียงพอสำหรับเราเพราะเราเป็นคนพอเพียง นี่คือความตั้งใจ อย่างไรก็ตามเวลาเท่านั้นจะสิ่งที่ต้องพิสูจน์ ชีวิตนี้ไม่มีอะไรเลย สูงสุดยอดคืนสู่สามัญนี่คือธรรมชาติของชีวิต แล้วเราจะเอาอะไรในชีวิตนี้?????

About เพียรพอเพียง

เขียนอะไรที่อยากจะเขียน เป็นคนชอบเขียนหนังสือ เขียนอะไรไปตามเรื่อง แล้วแต่จะนึกคิดได้ เนื้อหาหลากหลายทั้งธรรมะ ตลกขบขัน ความคิดสร้างสรรค์ วิชาการ ไม่ใช่วิชาการ อาจจะมีบทหน้งละครบ้าง (แต่ยังไม่ทำ)
This entry was posted in KonTamNa (คนทำนา), Myself (ข้าฯเอง). Bookmark the permalink.

Leave a comment